วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

Camp&Special Day

ค่ายเยาวชนพิทักษ์ไพร


Christmas Party 2009


ค่ายครูอาสารักษ์ป่าอีสาน 2010
ณ อุทยานแห่งชาติภูเวียง


Halloween' night party 2010


 Social Service At Dorn Nart Forest Temple
2010 4EN


Social Service At Ban Som Hong School
2011 4EN


English Camp at Roi-et (2010) 

About Me

            

             เฮ้อ ...อะไรในโลกนี้นี่มันไม่เที่ยงจริงๆ เลย เพิ่งรู้สึกว่าเมื่อวานนี้เองที่คุณครูเพิ่งขานชื่อฉันว่า ปิยมาลย์ สุขแก้วเด็กหญิงตัวดำ เหาเต็มหัว แถมยังตัดผมบ๊อบยังกะเด็กผู้ชายที่คอยรังควานคนอื่น ขนาดที่ว่าไม่ให้ใครได้ดีเกินตัวเอง (คดีนมช็อกโกแล็ต VS นมจืด) จนกระทั่งว่าไม่มีใครเขาอยากเล่นด้วยเมื่อสมัยอนุบาล จนเจ้าคุณพ่อตัดสินใจไม่ให้เข้าโรงเรียนประจำอำเภอเหมือนพี่สาวคนเก่งและฉลาดเอาการ ช่างเหอะ พอหยวนๆ ให้ เพราะตอนประถมก็ยังยอมให้เข้าโรงเรียนเกือบจะประจำอำเภอ ยังไงก็ใกล้ๆ กับโรงเรียนประจำอำเภอแหละน่า ก็ใครเค้าจะไปไว้ใจให้ she โกอินเตอร์ได้ล่ะ ก็มีโรค “ขี้ลืมขึ้นสมอง” แถมยัง มีเวลาที่ไม่ค่อยจะตรงกับคนอื่นซักเท่าไหร่ แฮะๆๆ
                แหม!! ดูเหมือนว่าประวัติไม่ค่อยจะสวยซักเท่าไหร่ ตั้งแต่อนุบาลเลย และที่สำคัญป๊ะป๋าก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านเค้าซักเท่าไหร่ ก็จะอาไร้ ถ้าไม่ใช่คอยอบรมเรื่องมารยาทให้ตั้งแต่ประถมก่อนที่ฉันจะเดินต๊อกแต๊กไปโรงเรียนอนุบาลใกล้บ้าน ก็คงทำให้ฉันไปเข้าแถวเคารพธงชาติทันเพื่อนมั่งแหละน่า (ที่จริงตัวเองตื่นสายจนต้องถูกทำโทษก่อนไปโรงเรียน) บางทีนะให้เด็กอนุบาลที่น่าสงสารอย่างฉันวิ่งรอบบ้านซัก 10 รอบ กระโดดตบ 20 ครั้ง เก็บขยะรอบๆ บริเวณบ้าน โอ๊ย! ก่อนจะได้ออกจากบ้านเหมือนเพื่อนะเล่นทำเอาหอบทั้งพี่ทั้งน้อง บางวันฉันรีบตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนแต่ก็ถูกมาตามให้กลับบ้านตามประกาศเคอร์ฟิว เหตุผลเพราะไม่เสียบสายกาน้ำร้อนต้มกาแฟให้ท่านพ่อ ก็ใครล่ะจะไปเก่งเหมือนลูกสาวคนโตที่อยู่ ป. 2 สอบได้ที่ 1 ทุกปี และแสนจะน่ารักเหมือนยัยน้ำลายยืด ที่ทำให้ฉันต้องแก่กว่าถึง 5 ปี จนทำให้เด็กอนุบาลอย่างฉันต้องเป็นพี่สาวตั้งแต่อายุยังไม่พร้อม
                จะบอกว่าตอนอนุบาลยังน้อยไป เมื่อเทียบกับวาระที่ฉันอยู่โรงเรียนประถม(โรงเรียนบ้านหัวหนอง) ต้องให้คุณป๊ะป๊าไปส่งที่โรงเรียนนี่สิ ฉันต้องวิ่งตามตูดรถกระบะคันสีน้ำเงินเพื่อนยากคันนั้นเพื่อให้ทันไปโรงเรียนทุกวัน บางวันฉันก็สายด้วยเรื่องที่ไม่คาดฝันนั่นคือ หาถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า สมุดการบ้าน ไม่เจอ โดยเฉพาะรองเท้าที่ต้องเข้าไปหาที่ป่ากล้วยทุกวันเพราะถูกผู้ประกาศอัยการศึก(ก็จะใครล่ะ) โยนทิ้งข้อหาถอดไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง จนทำให้ฉันเจอกับเจ้าหนอนบุ้งที่ห้อยอยู่กับต้นกล้วย และทำให้ฉันต้องกลัวมันเท่าทุกวันนี้ (บางคืนก็ยังฝันร้ายเพราะเจ้าหนอนตัวนั้นแหละ) และด้วยความที่ฉันเป็นตัวของตัวเองมากเกินไปจนทำให้ต้องย้ายโรงเรียนเพื่อหาประสบการณ์ถึง 3 โรงเรียนแน่ะ
                ชุมแพศึกษาแหล่งวิชาให้ความรู้  สีเขียวชมพูสู่ศรัทธาพาฟูเฟื่อง....และแล้วชีวิตวัยทีนก็มาถึงแบบเต็มรูปแบบ ฉันเข้าเรียนมัธยมที่โรงเรียนชุมแพศึกษา เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่มากกก เพราะมีนักเรียนเกือบๆ 3,000 คน ฉันตั้งใจเรียนที่สุดเลยเพราะรู้สึกว่าสนุกไปหมดเลย ยกเว้นกฎที่กักบริเวณคนที่เข้ามาโรงเรียนหลัง 08.00 น. และการตัดผมที่ฉันรักนักรักหนา และการมาอยู่ที่นี่ทำให้ฉันได้เรียนรู้กับภาษาอังกฤษอย่างเต็มรูปแบบ ฉันรักการเรียน การอ่าน และแม้แต่การร้องเพลงฝรั่ง ก็เพราะมีครูที่ดีที่คอยเป็นแบคอัพอยู่เบื้องหลัง สอนทั้งก่อนนอนและหลังเลิกเรียน (สงกรานต์ยังสอน) นั่นคือ คุณครูอนงค์ สุขแก้ว ก็พ่อฉันเป็นครูนี่นา ดูนามสกุลก็รู้ว่าพ่อใครเนอะ พอฉันอยู่ ม. 5 พี่สาวฉันก็เข้ามหาวิทยาลัย (ตอนนี้กำลังเรียนเนติบัณฑิต) น้องสาวฉันก็เข้าเรียน ม. 1 ทำให้แม่ทำงานหนักเพิ่มขึ้นและอีก 1 ปีต่อมา แม่ก็ได้กลายเป็น talk of the town ของหมู่บ้านเพราะตั้งครรภ์ลูกชายคนเล็ก แต่ใครถ้าเห็นแม่ฉันก็คงจะอิจฉาเพราะหน้าเด้งยังกะเด็กปีหนึ่ง ท่านขายของที่ตลาดเช้าโรงหนังเก่าที่ค่าเช่าแผงแพงหูขี้ (ตอนนี้ 180 แล้ว) ต่อวัน ก็ขายผักสด พริกแดง กระเทียม ขิง ประมาณนี้แหละแบบว่าขายหลายอย่าง และก็มี order ส่งร้านอาหารเกือบทุกวัน พอฉันเลิกโรงเรียนปั๊บ งานแรกที่ต้องทำก็คือเด็ดพริก และปอกเปลือกกระเทียม เตรียมขายตอนเช้าและส่งร้านอาหารมั่ง ตอนนี้มี order เยอะมั่กๆ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ถ้ามาตลาดนี้ถามหาเจ๊สมหมาย รับรองรู้กันทั่วตลาด บางครั้งฉันก็ไปขายของกับแม่ โดยเฉพาะตอนที่แม่ตั้งท้องลูกคนที่ 4 ฉันกับยายก็ไปขายแทน ยายฉันนะคิดเลขเร็วโคตรๆ ไอ้เรายังคิดไม่ทันเลย ก็แกเป็นแม่ค้าเก่า แถมขยันจนบางครั้งฉันเครียดลงกระเพราะ เพราะแกพาหอบของไปขายตั้ง 3 ตลาด ไอ้เรานี่สิทั้งเรียนทั้งเตรียมตัวจะเข้ามหาวิทยาลัย เล่นเอาไม่มีแม้กระทั้งเวลาทำการบ้าน กลับมาถึงบ้านก็ตี 3 ตี 4 เพราะขับรถมอไซด์ไปส่งยายที่ตลาด จนกระทั่งแม่คลอดน้องนั่นแหละยายจึงได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดเอาวัยทีนช้านคืนมาฮือๆๆ
                ถึงฉันจะทำงานหนักแต่ก็ไม่ทิ้งเรื่องการเรียนเหมือนที่พ่อประชดหรอกน่ะ เพราะขนาดไม่ค่อยได้อ่านหนังสือหลังเลิกเรียน ขนาดไปโรงเรียนสายทุกวัน ขนาดหลับในห้อง ยังได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ทั้ง ม. 4 5 และ ม. 6 เทอมแรกเลย คงเป็นเพราะพ่อคอยจ้ำจี้จ้ำไชตอนที่แกเลิกโรงเรียน และเวลาดูละครของฉันก็ไม่เคยมีมาในอดีต พ่อดูข่าวเราก็ได้ดูแต่ข่าว กฎของบ้านคือห้ามดูละคร (ยกเว้นแต่ตอนที่ท่านไม่อยู่) เวลาดูละครคือเวลาที่ฉันต้องอ่านหนังสือให้พ่อฟัง และรอยต่อแห่งอนาคตของฉันก็มาถึง เมื่อสมัครเข้าเรียนต่อคณะศึกษาศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ พ่อฉันสนับสนุนให้เรียนครู 100 เปอร์เซ็นต์ เด็กสาวแสนสวยและดีอย่างฉันก็ต้องตามใจท่านเพราะอยากเรียนภาษาอังกฤษอยู่แล้ว และอีกอย่างพ่อสามารถที่จะเบิกค่าศึกษาบุตรได้ ก็คงจะลดภาระได้เพราะพี่สาวฉันเรียนมหาลัยเอกชน
                เห็นหรือยังว่าเรื่องราวของฉันมันเหมือนเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ก็เพิ่งเริ่มเมื่อตอน 29 พฤศจิกายน 2531 นี่เองตอนนี้ฉันก็อายุ 22 แล้วละ จริงๆ นะ ถึงแม้บางคนจะบอกว่าเหมือนเด็กอายุ 12 ชีวิตที่มหาวิทยาลัยฉันก็มหาวิทยาลัยจริงๆ ปี 1 ยันปี 4 ก็ยังอยู่หอพักในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนหอทุกปีดังนี้แล ตอนปีหนึ่งอยู่พุทธรักษา 210 ปีสองย้ายไปกุดรัง 103 ปีสามกลับมาที่ ม. เก่า อยู่ก๊ะเจ๊ไข่ (นุ้ย) ที่เบญจมาศ 110 แต่พอเทอม 2 มีเหตุให้ต้องคืนไปที่หอกุดรัง ทีนี้ไปอยู่ห้อง 129 พอปี 4 ก็อยู่กุดรังนั่นแหละแต่เปลี่ยนห้องมาเป็น 103 และแล้วข้าพเจ้าก็มีเรียนแต่ที่ ม. เก่า ก็เลยต้องย้ายมาอยู่ที่หอเบญจมาศ 103 เจ้าค่ะ ฉันมีเพื่อนที่สนิทอยู่ 2 คน คือบุญภา (ไข่นุ้ย) และก็ สุภาภรณ์ (ปั๊ก) นั่นแหละที่นัด นัด นัด ทำงานแต่ ม. เก่า แต่ก็ด้วยแรงบันดาลใจของสองคนนี้ทำให้ฉันมาเรียนทันเวลากะเขาซะที ฉันเปลี่ยนหอบ่อยจนมีเพื่อนเกือบทุกคณะแล้วล่ะ  แต่ก็เสียดายอย่างหนึ่งที่มาอยู่ม.เก่าไม่มีสระว่ายน้ำเหมือนอยู่ที่กุดรังม.ใหม่ ฉันไปว่ายน้ำทุกวันสมัยอยู่ที่โน่น คิดถึงซิทแพ็คหนุ่มๆ จัง (ล้อเล่น) สายตาสั้นตั้ง 250 จะไปมองเห็นอะไร ถ้าไม่ดำน้ำไปดูใกล้ๆ แฮะๆๆ อันนี้แค่บังเอิญเห็นเฉยๆ หรอกน่า...ฉันว่ายน้ำเป็นเพราะเกือบเคยจมน้ำแต่ไม่ยักกลัวน้ำเหมือนกลัวหนอนบุ้ง ตอนนี้ว่ายเป็นทั้ง 4 ท่า ผีเสื้อ Free Style กบ และกรรเชียง ตอนที่ว่ายน้ำน่ะหุ่นดี๊..ดี แต่ตอนนี้ลดยังไงก็ไม่ลง
                และแล้วชีวิตที่รั้วเหลืองเทาแห่งนี้ก็ใกล้สิ้นสุดลงทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะข้าน้อยจะได้เป็นนิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู ที่โรงเรียนบ้านหนองคู ว้า...คงคิดถึงที่นี่แย่เลย EN Fighting

วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

MI (Multiple Intelligences Theory) ทฤษฎีพหุปัญญา

        โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) อาจารย์จิตวิทยา มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำโครงการที่ชื่อว่า Harvard, s project Zero ซึ่งเป็นโครงการที่ศึกษาถึงพัฒนาการพุทธิพิสัยเด็กปัญญาเลิศและเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาเป็นเวลาหลายปี ในปี ค.ศ. 1983 ซึ่ง Gardner ระบุว่ามีปัญญาอยู่ 7 ด้าน ต่อมา เขาได้เพิ่มเติมปัญญาด้านที่ 8 คือด้านความสามารถในการเข้าใจสภาพธรรมชาติ


        1. ความฉลาดทางด้านภาษา (Linguistic intelligence) ความสามารถในการเข้าใจความหมายและการใช้ภาษา การพูดและการเขียน การเรียนรู้ภาษา การใช้ภาษาสื่อสารให้ได้ผลตามเป้าหมาย สื่ออารมณ์ความรู้สึกให้คนอื่นเข้าใจได้ดี เช่น นักกวี นักเขียน นักพูด นักกฎหมาย
        2. ความฉลาดทางด้านตรรกะ (Logical-mathematic intelligence) ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และเรื่องของเหตุผล คิดวิเคราะห์ ในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์
       3. ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical intelligence) ความสามารถในการเข้าใจและสร้างสรรค์ดนตรี เข้าใจจังหวะ เช่น นักแต่งเพลง นักดนตรี นักเต้น



 
       4. ความฉลาดทางด้านมิติ (Spatial intelligence) ความสามารถในการสร้างภาพในจินตนาการ และนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน เช่น จิตรกร ประติมากร สถาปนิก ดีไซเนอร์
       5. ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily-kinesthetic intelligence) ความสามารถในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ เช่น นักเต้น นักกีฬา นักแสดง


 
       6. ความฉลาดในการเป็นผู้นำ (Interpersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น สามารถจูงใจผู้อื่น เช่น นักการเมือง ผู้นำทางศาสนา ครู นักการ ศึกษา นักขาย นักโฆษณา 



 
       7. ความฉลาดภายในตน (Intrapersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกภายในของผู้คน เช่น นักเขียน ผู้ให้คำปรึกษา จิตแพทย์ 
       8. ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalist intelligence) ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ พืช สัตว์ ธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม

 
    


สื่อประกอบการเรียนการสอนแบบทฤษฎีพหุปัญญา

วันพฤหัสบดีที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554

Culture การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรม

      วัฒนธรรมของเจ้าของภาษามีบทบาทสำคัญในการเรียนภาษาต่างประเทศ เพราะวัฒนธรรมไม่สามารถแยกออกจากภาษาผู้เรียนต้องเรียนรู้วัฒนธรรมไปพร้องๆ กันกับการเรียนรู้ภาษา



          นักภาษาศาสตร์และนักมนุษยวิทยามีความเชื่อมาเป็นเวลานานแล้วว่า ในขณะที่คนพูดภาษาใดภาษาหนึ่งนั้นได้สะท้อนวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ด้วย แสดงให้เห็นว่าความสามารถทางภาษาศาสตร์อย่างเดียวไม่เพียงพอในการเรียนรู้ภาษาใดภาษาหนึ่งผู้เรียนจำเป็นต้องรับรู้วัฒนธรรมของภาษานั้นๆ ด้วย (Krasner)


          ครามัช (Kramsch) กล่าวว่าในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรมนั้นผู้สอนต้องจัดบรรยากาศในห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนได้สำรวจวัฒนธรรมเป้าหมายได้ด้วยตนเอง ซึ่งนักวิจัยพบว่าการใช้สิ่งของของเจ้าของภาษากระตุ้นให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้ความคิด เป็นวิธีที่ช่วยใหัผู้เรียนได้ใช้ข้อมูลใหม่กับความรู้เดิมในวัฒนธรรมของผู้เรียน


สื่อประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วัฒนธรรม
     Unit: Places  Topic: Places for Vacation

Cooperative Learning การเรียนรู้แบบร่วมมือ

          การเรียนรู้แบบร่วมมือเป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มเล็กๆ สมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกันมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน และมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตน และส่วนรวม เพื่อให้กลุ่มได้รับความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด


องค์ประกอบที่สำคัญของการเรียนรู้แบบร่วมมือ ดังนี้
       1.ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในทางบวก (Positive Interdependence) หมายถึง การที่สมาชิกในกลุ่มทำงานอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน มีการทำงานร่วมกัน โดยที่สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานนั้น



        2.การมีปฏิสัมพันธ์ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน (Face To Face Promotive Interaction) เป็นการติดต่อสัมพันธ์กัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การอธิบายความรู้ให้แก่เพื่อนในกลุ่มฟัง เป็นลักษณะสำคัญของการติดต่อปฏิสัมพันธ์โดยตรงของการเรียนแบบร่วมมือ
        3.ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล (Individual Accountability) ความรับผิดชอบของสมาชิกแต่ละบุคคล เป็นความรับผิดชอบในการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละบุคคล โดยมีการช่วยเหลือส่งเสริมซึ่งกันและกัน


        4.การใช้ทักษะระหว่างบุคคลและทักษะการทำงานกลุ่มย่อย (Interdependence and Small Group Skills) ทักษะระหว่างบุคคล และทักษะการทำงานกลุ่มย่อย  
        5.กระบวนการกลุ่ม (Group Process) เป็นกระบวนการทำงานที่มีขั้นตอนหรือวิธีการที่จะช่วยให้การดำเนินงานกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  
        
สื่อประกอบการเรียนรู้แบบร่วมมือ
     Unit: Travel  Topic: Transport 

CALL (Computer-assisted language learning program)

         ผ่าน บาลโพธิ์ (2539) อธิบายลักษณะของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยเรียนภาษา หรือ CALL (Computer-assisted language learning program) ไว้ว่า โปรแกรมช่วยเรียนภาษาเป็นชุดคำสั่งที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการเรียนการสอนภาษามีลักษณะเหมือนกับโปรแกรมช่วยการสอน หรือ CAI คือ มีการเสนอเื้นิ้อหาหรือเนื้อเรื่อง มีการถามการตอบ มีการแนะนำและอธิบายแต่จะกว้างกว่า CALL เพราะ CAI บอกให้ทราบว่าเป็นโปรแกรมช่วยการสอนเท่านั้น ส่วนจะสอนวิชาใดบ้างก็แล้วแต่ผู้สร้างโปรแกรม 



       แต่ CALL หมายถึงโปรแกรมช่วยเรียนภาษาโดยเฉพาะ ใช้ได้ทั้งกับการเรียนในห้องเรียน โดยมีผู้สอนเป็นผู้ควบคุมดูแลกระบวนการเรียน



       และการให้ผู้เรียนเรียนจากโปรแกรมด้วยตนเองที่ศูนย์การเรียนรู้ดวยตนเอง (Self-access learning center) หรือที่ศูนย์คอมพิวเตอร์และสำหรับสถานศึกษาทีมีความพร้อมก็อาจมอบแผ่นโปรแกรมให้ผู้เรียนนำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์นอกสถานศึกษาโดยผ่านโมเด็มและสายโทรศัพท์

บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนภาษา
     Unit: Occupation  Topic: Future Career                                                          Part 1  /  Part 2  /  Part 3  /  Part 4
     Unit: Scien and Technology  Topic: Solar System


วิดีโอสาธิตการสอนโปรแกรม CALL ขั้น Presentation
    

 

CLIL วิธีสอนภาษาแบบบูรณาการภาษาและเนื้อหา

      แมคโกรอาที่ (Mcgroarty. 1998) กล่าวถึงความเป็นมาของวิธีสอนภาษาบบบูรณาการภาษาและเนื้อหาว่า วิธีสอนภาษาแบบบูรณาการภาษาและเนื้อหามีพื้นฐานแนวคิดมาจากการศึกษาสองภาษา (bilingual education) เป็นกระบวนการจัดการศึกษาที่ใช้สองภาษาเป็นสื่อในการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน 



       อย่างไรก็ตาม ผู้เรียนจะได้เรียนหนึ่งหรือสองภาษาขึ้นอยู่กับลักษณะของโปรแกรม ซึ่งการศึกษาสองภาษามีหลายโปรแกรม บางโปรแกรมไม่ได้ตั้งจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เฉพาะสองภาษาเท่านั้น เช่น ในสหรัฐอเมริกา ในพื้นที่ที่คนส่วนมากใช้ภาษาอังกฤษ การเรียนภาษาอังกฤษสำหรับผู้เรียนที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมสองภาษาเพราะความมุ่งหมายของโปรแกรมคือ ใช้ภาษาอังกฤษในการพัฒนาทักษะภาษาวิชาการ ซึ่งผู้เรียนพัฒนาภาษาวิชาการได้ยากกว่าภาษาเพื่อการสื่อสาร 



        ดังนั้นผู้สอนจึงต้องจัดเตรียมกิจกรรมเป็นอย่างดี ด้วยเหตุผลนี้เองจึงจำเป็นต้องพัฒนาทั้งภาษาที่หนึ่งคือ ภาษาของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเพิ่มขีดความสามารถทางภาษาของตนเองมากขึ้น ก็จะทำให้ขีดวามสามารถในการใช้ภาษาที่สองมากขึ้นเช่นกัน

สื่อประกอบการเรียนการสอนภาษาแบบบูรณาการภาษาและเนื้อหา (CLIL) 
        Top Secret Invisible Ink
        Color Changing Milk Part 1  /  Part 2
        


วิดีโอสาธิตการสอนภาษาแบบบูรณาการภาษาและเนื้อหา
ขั้น Experiment